ข้อควรรู้
ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน...

ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน

              ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีอิทธิพลมากในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เราสามารถนำไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเช่น ด้านแสงสว่าง ด้านความร้อน ด้านพลังงาน ด้านเสียง เป็นต้น และการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต้องเรียนรู้การใช้ที่ถูกวิธี ต้องรู้วิธีการป้องกันที่ถูกต้อง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงประเภทของไฟฟ้า วงจรและอุปกรณ์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันที่ควรจะรู้จัก

กระแสไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

   แหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ( DC )

          คือ แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มีการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสในช่วงการจ่าย ตัวอย่าง เช่น แบตเตอรี่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ

         

   แหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ

          คือ แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสในช่วงการจ่ายเป็นระยะๆ กระแสสลับที่แท้จริงมีลักษณะเป็นรูปคลื่นที่ความถี่ 50 Hz หรือ 60 Hz ตัวอย่าง เช่น ไฟฟ้าจากระบบสายส่งการไฟฟ้า

          

วงจรไฟฟ้าในบ้าน           

          ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อแบบขนาน ซึ่งเป็นการต่อวงจรที่ทำให้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดอยู่คนละวงจร ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งเกิดขัดข้องเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นก็ยังคงใช้งานได้ตามปกติ เพราะไม่ได้อยู่ในวงจรเดียวกัน ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเรือนทั่วไปเป็นไฟฟ้ากระแสสลับมีความต่างศักย์ 220 โวลต์ การส่งพลังงานไฟฟ้าเข้าบ้านจะใช้สายไฟ 2 เส้น คือ 1) สายกลาง หรือสาย N มีศักย์ไฟฟ้าเป็น 0 โวลต์ 2) สายไฟ หรือสาย L มีศักย์ไฟฟ้าเป็น 220 โวลต์ โดยปกติสาย L และสาย N ที่ต่อเข้าบ้านจะต่อเข้ากับแผงควบคุมไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในบ้านอย่างมีระบบ บนแผงควบคุมไฟฟ้ามักจะประกอบด้วย ฟิวส์รวม สะพานไฟรวม และสะพานไฟย่อย โดยสะพานไฟย่อยมีไว้เพื่อแยกและควบคุมการส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังวงจรไฟฟ้าย่อยตามส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น วงจรชั้งล่าง วงจรชั้นบน วงจรในครัว เป็นต้น

ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน

   อุปกรณ์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันที่ควรรู้จัก

สายไฟ ( Wire )

         สายไฟเป็นอุปกรณ์สำหรับส่งพลังงานไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยกระแสไฟฟ้าจะนำพลังงานไฟฟ้าผ่านไปตามสายไฟจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟทำด้วยสารที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้า (ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ดี) ได้แก่

1. สายไฟแรงสูง ทำด้วยอะลูมิเนียม เพราะอะลูมิเนียม มีราคาถูกและน้ำหนักเบากว่าทองแดง (อะลูมิเนียมมีความต้านทาน สูงกว่าทองแดง)

2. สายไฟทั่วไป (สายไฟในบ้าน) ทำด้วยโลหะทองแดง เพราะทองแดงมีราคาถูกกว่าโลหะเงิน (เงินมีความต้านทานน้อยกว่า ทองแดง)

สะพานไฟ ( Cut-out )

          สะพานไฟ, คัตเอาท์ หรือ ตัวตัดวงจร, เซอร์กิตเบรกเกอร์ (อังกฤษ: circuit breaker) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตัดตอนแหล่งจ่ายไฟออกจากวงจรไฟฟ้าลูก เช่น ตัดวงจรไฟฟ้าภายในบ้านออกจากแหล่งจากไฟภายนอกเป็นต้น นอกจากทำหน้าที่เป็นสวิตซ์ไฟฟ้าเมื่อผู้ใช้สั่งการแล้ว ยังทำหน้าที่ตัดการจ่ายไฟโดยอัตโนมัติได้เมื่อมีเหตุ ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูด ไฟรั่ว ไฟตก ไฟเกิน ได้แล้วแต่ความสามารถของสะพานไฟที่ใช้

ฟิวส์ ( Fuse )

       ฟิวส์ เป็นอุปกรณ์นิรภัยชนิดหนึ่งที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยจะป้องกันการลัดวงจรและการใช้กระแสเกินในวงจรไฟฟ้า โดยจะหลอมละลายและตัดกระแสไฟออกจากวงจรเพื่อป้องการอุปกรณ์เสียหาย โดยฟิวล์จะเป็นเส้นลวดเล็กๆทำจากตะกั่วผสมดีบุกมีจุดหลอมเหลวที่ต่ำมีหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของการใช้งาน

สวิตซ์ ( Switch )

       สวิตซ์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการเปิดหรือปิดวงจรไฟฟ้าเฉพาะส่วนที่ต้องการปล่อยให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าวงจรหรือตัดกระแสไฟฟ้า ไม่ไหลเข้าวงจรตามต้องการได้ที่ตัวของสวิตซ์จะมีตัวเลขบอกปริมาณกระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าไว้ด้วย

เต้ารับ หรือ เต้าเสียบ ( Plug )

        เต้ารับ หรือ เต้าเสียบ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าที่ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยนำปลายของสายไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่ออยู่กับเต้าเสียบ ไปเสียบกับเต้ารับที่ต่ออยู่ในวงจรไฟฟ้าใดๆ ก็ได้ภายในบ้าน

หลอดไฟฟ้า ( Lamp )

         หลอดไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างที่ใช้ตามบ้านเรือน สำนักงาน สถานที่สาธารณะ ตลอดไปจนถึงอุปกรณ์ให้แสงสว่างต่าง ๆ สำหรับงานทางด้านอุตสาหกรรม มีหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://tv11.prd.go.th/khonkaen/ewt_news.php?nid=2278&filename=index ออนไลน์ที่ดีที่สุด